โครงการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน
ความเป็นมา
สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่ง ที่ ๑๕๕/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ แต่งตั้งคณะกรรมการ
บริหารจัดการไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก
ในขณะนั้นเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากำหนดกรอบแนวทางอำนวยการ
กำกับดูแลและดำเนินการนำไม้มีค่าที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของส่วนราชการ
หลายหน่วยงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อแผ่นดิน ต่อมาได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจึงได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่ ๒๐๓/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ และ ที่ ๔/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘
แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
เป็นประธานกรรมการ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองเสนาธิการทหารบก ที่รับผิดชอบงานกิจการพลเรือน
และรองเสนาธิการทหารบกที่รับผิดชอบงานส่งกำลังบำรุง เป็นรองประธานกรรมการ และมีผู้แทนจาก
หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ร่วมเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่
กำหนดแนวทางที่จะนำไม้มีค่ามาใช้ในการประดับตกแต่งอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าเพื่อประโยชน์
ของแผ่นดินที่จะสร้างขึ้น เพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อต้องการให้มีการใช้ประโยชน์จากไม้มีค่าที่อยู่ในการกำกับดูแลของทางราชการให้ใช้เป็น
ที่จัดแสดงผลงานเกี่ยวกับศิลปกรรม จิตรกรรม หัตถกรรม และประติมากรรม ซึ่งเป็นผลงานของช่าง
คนไทยที่สืบทอดงานศิลป์ ใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกของพระบรมวงศานุวงศ์หรือแขกของรัฐบาล
และเป็นแหล่งการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยของนิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป
๒. เพื่อเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา
ที่ตั้ง พื้นที่ใช้สอย แนวความคิดในการออกแบบ แบบรูปของอาคาร
อาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าฯ ตั้งอยู่บริเวณหอประชุมกองทัพบก ถนนราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต
กรุงเทพมหานคร รูปแบบอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยมีความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย
เน้นพื้นที่อาคารให้เกิดประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญโดยการจัดวางมุขเป็นลักษณะ ๓ มุขจั่ว คือมีมุขตรงกลาง
และมุขซ้าย – ขวา โดยอาคารมีพื้นที่ ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ ชั้นบนเป็นห้องประชุม และใต้ดิน ๒ ชั้น
เป็นที่จอดรถ จอดรถได้ประมาณ ๑๕๐ คัน อาคารมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด ๑๓,๕๗๙.๒๕ ตารางเมตร
ไม้ที่จะนำมาใช้ประมาณ ๖๗,๘๐๐ ลูกบาศก์ฟุต ซึ่งประกอบด้วย ไม้สักและไม้พะยูง
การประดับตกแต่งอาคาร ภายนอกอาคาร ผนังบุด้วยหินอ่อน จั่ว รวยระกา ลวดลายปูนปั้นทาสีบริเวณ
มุขตรงกลางมีพระปรมาภิไธย ภปร. และพระนามาภิไธย สก. มุขขวาประดับพระนามาภิไธย มวก.
มุขซ้ายประดับพระนามาภิไธย สธ. เป็นโลหะหล่อปิดทอง ประดับที่หน้ามุขทั้ง ๓ มุข ด้านบนเป็นหลังคา
เมทัลชีท มีพื้นคอนกรีตเพื่อวางระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจะบดบังด้วยหลังคาและการตกแต่งต่าง ๆ
มองดูแล้วกลมกลืนสวยงาม
การประดับตกแต่งของชั้นที่ ๑
การตกแต่งภายในเน้นการใช้ไม้มีค่า เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ การตกแต่งเป็นรูปแบบไทยเป็นหลัก
ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก โดยจัดวางองค์ประกอบลวดลายแบบตะวันตกแต่ลวดลายแบบไทย
การประดับตกแต่งแต่ละห้องนั้นให้แตกต่างกัน โดยใช้เรื่องราวของวรรณคดี คติ ความเชื่อ ความรู้ในอดีต
การเมือง การปกครอง เรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยการใช้ช่างสิบหมู่ของกรมศิลปากร
และศิลปาชีพ
การประดับตกแต่งของชั้นที่ ๒
เฟอร์นิเจอร์ออกแบบใหม่ทั้งหมดให้มีรูปแบบลวดลายไทย ประติมากรรมที่ใช้เป็นสัตว์หิมพานต์
ระดับพื้นดินมีรูปลักษณะเป็นสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า พื้นชั้นที่ ๑ มีรูปลักษณะสัตว์ผสมมนุษย์ สัตว์ผสมเทวดา
ชั้นที่ ๒ มีรูปลักษณะเป็นเทวดา ส่วนระเบียงมีการจัดนิทรรศการ โดยการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องราว
ประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของแต่ละยุคสมัย และงานประติมากรรมรูปแบบต่าง ๆ
ผู้ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าฯ
โดยกรมศิลปากร
ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าฯ
ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๓
ความก้าวหน้าของโครงการ
ขณะนี้ฝ่ายออกแบบและก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบแบบรูปรายการและประมาณ
ราคากลางเพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินค่าก่อสร้างอาคาร
โดยได้กำหนดพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙
และจะมีการขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าเพื่อประโยชน์
ของแผ่นดินต่อไป
|