 |
|
 |
|
ประวัติความเป็นมา
กองกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๐๓ เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นการโอนงานของกรมตรวจราชการแผ่นดินมาเป็นงานของสำนักงานปลัดสำนัก นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เป็นสำนักงานปลัดกระทรวงของสำนักนายกรัฐมนตรี
ข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๔๕ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรับมนตรี พ.ศ. ๒๕๐๒ ให้แบ่งส่วนราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดย "กองกลาง" แบ่งเป็น ๕ แผนก คือ ๑) แผนกรับส่ง ๒) แผนกโต้ตอบ ๓) แผนกประเมินระเบียบและสถิติ ๔) แผนกงานปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี และ ๕) แผนกเก็บและห้องสมุด
ในระยะเริ่มแรกผู้บริหารของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการการเมือง และได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ โดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘
ต่อมาได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๓๔ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งได้มีการใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้กำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการ ประจำทั่วไปของสำนักนายกรัฐมนตรี และราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัด สำนักนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี ยกเว้นราชการของส่วนราชการที่กฎหมายกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อ นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วน ราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี รองจากนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยกเว้นข้าราชการของส่วนราชการซึ่งหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ข้อมูล ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
|
|
|
|
|
|
 |
|
 |