เมื่อปี พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง กรม พ.ศ. 2476 จัดตั้งสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นทบวงการเมืองมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง การแบ่งส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้มีสำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนราชการระดับกรม ปฏิบัติงานในภารกิจของนายกรัฐมนตรี และในสำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรี แบ่งส่วนราชการออกเป็นสองแผนก คือ
1. แผนกการเมือง
2. แผนกตรวจสอบเรื่องราว
สำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี และแผนกตรวจสอบเรื่องราวได้พัฒนามาเป็นกองบริการประชาชน (กปช.) คำว่า กองบริการประชาชน หรือ กปช. ปรากฏเป็นครั้งแรกในเอกสารประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 กำหนดให้เป็นหน่วยงานระดับกองในสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี (สำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรีเดิม) มีหน้าที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน โดยแบ่งส่วนราชการภายในเป็น 2 แผนก คือ
1. แผนกสอบสวนเรื่องราว
2. แผนกสวัสดิการสงเคราะห์
ต่อมาปี พ.ศ. 2509 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2509 แบ่งส่วนราชการในกองบริการประชาชนเพิ่มเป็น 3 แผนก คือ
1. แผนกสอบสวนเรื่องราว
2. แผนกสวัสดิการสงเคราะห์
3. แผนกแนะนำทางกฎหมายและประนอมข้อพิพาท
ปี พ.ศ. 2517 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 กำหนดให้มีสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง และจัดตั้งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก มีฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรมทำหน้าที่รับผิดชอบราชการทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในการนี้ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2518 กำหนดให้กองบริการประชาชนเป็นหน่วยงานในสังกัด มีฐานะเป็นหน่วยงานระดับกองให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน และประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาการร้องเรียนขอความเป็นธรรม การร้องเรียนขอความช่วยเหลือของราษฎรที่ร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนการให้คำแนะนำทางกฎหมายและการดำเนินคดีให้แก่ราษฎรที่มาขอความช่วยเหลือ
โดยมีการแบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น 3 ฝ่าย คือ
1. ฝ่ายสอบสวนเรื่องราว
2. ฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์
3. ฝ่ายแนะนำทางกฎหมายและคดี
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2539 กองบริการประชาชนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นส่วนราชการระดับที่สูงกว่ากอง ภายใต้ชื่อ ศูนย์บริการประชาชน (ศบช.) สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2539 และมีการแบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น ดังนี้
1. ฝ่ายบริหารทั่วไป
2. ส่วนบริการประชาชน 1
2.1 ฝ่ายสอบสวนเรื่องราวและความสงบเรียบร้อยในสังคม
2.2 ฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์และสาธารณูปการ
3. ส่วนบริการประชาชน 2
3.1 ฝ่ายแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายและการดำเนินคดี
3.2 ฝ่ายเศรษฐกิจและการครองชีพ
4. ส่วนประสานมวลชนและประเมินผล
4.1 ฝ่ายประสานมวลชน
4.2 ฝ่ายประเมินผล
4.3 ฝ่ายประสานงานภูมิภาค ท้องถิ่น กับองค์กรประชาชน
ปัจจุบันภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการ ศูนย์บริการประชาชนได้โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่จากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2545
อ่านต่อ |